Sunday, November 25, 2007

ประเพณีสืบชะตา



ประเพณีสืบชะตา

การสืบชะตาหรือสืบชาตา หรือการต่ออายุ หรือสืบชะตากำเนิดให้ยืดยาวออกไป หมายถึงต้องการให้เป็นมงคล มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยทั้งหลาย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป

ประเพณีสืบชาตาแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
ประเพณีสืบชะตาคน
ประเพณีสืบชะตาบ้าน
ประเพณีสืบชะตาเมือง


1. ประเพณีสืบชะตาคน
นับเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ชาวล้านนาไทยนิยมทำกันในหลายโอกาส เช่น เนื่องในวันเกิด วันได้ยศศักดิ์ตำแหน่ง วันขึ้นบ้านใหม่ กุฏิใหม่ หรือไปอยู่ที่ใหม่ บางครั้งเกิดเจ็บป่วย “หมอเมื่อ” (หมอดู) ทายทักว่าชะตาไม่ดี ชะตาขาดควรจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ และสืบชะตาต่ออายุเสีย จะทำให้คลาดแคล้วจากโรคภัย และอยู่ด้วยความสวัสดีต่อไป

การสืบชะตาคนนี้ วิธีการสืบชะตามีเครื่องพิธีคล้ายคลึงกัน อาจจะแตกต่างกันไปบ้างในเครื่องพิธีบางอย่าง และชื่อของเครื่องในพิธีเท่านั้น สถานที่จะจัดทำพิธีสืบชะตาจะทำในห้องโถง หากเป็นวัดก็จะจัดในพระวิหาร หรือที่ “หน้าวาง” คือห้องรับแขกของเจ้าอาวาส ถ้าเป็นบ้านก็จัดทำ “บนเติ๋น” คือห้องรับแขก ซึ่งต้องใช้ห้องกว้าง เพราะให้เพียงพอสำหรับแขกที่มาร่วมงาน

2. ประเพณีสืบชะตาบ้าน


นิยมทำกันเมื่อมีผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านนั้น ประสบความเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย หรือในกรณีที่มีคนตายติด ๆ กันในบ้านเกิน 3 คน ขึ้นไปในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ชาวบ้านถือว่าอุบาทว์ตกลงมาสู่บ้าน หรือชาวบ้านถือเป็นเรื่อง “ขึดบ้าน ขึดเรือน “ จะทำพิธีขจัดปัดเป่า เรียกว่า สืบชะตาบ้าน อีกประการหนึ่ง เมื่อปีใหม่สงกรานต์ล่วงไประยะวันปากปี ปากเดือน ปากวัน ได้แก่วันที่ 16-17-18 เมษายน ชาวบ้านจะกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งสืบชะตาบ้าน เพื่อให้เกิดความสวัสดีแก่ประชาชนภายในบ้านของตน

3. ประเพณีสืบชะตาเมือง


การทำพิธีสืบชะตาเมืองของชาวล้านนาไทยมีมาแต่สมัยโบราณกาล ถือเหตุที่ว่าการตั้งเมือง มีดวงชะตาที่เรียกกันว่า “ดวงชะตาเมือง” บางครั้งดาวพระเคราะห์ทั้งหลาย ตัวที่เป็นปาปะ เข้ามาทับดวงเมืองทำให้เมืองนั้นชะตาตก ชะตาไม่ดี และชะตาขาด เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวเมืองที่อยู่อาศัย ในเมืองนั้นจะได้รับความเดือดร้อน เป็นทุกข์ด้วยโรคภัยไข้เจ็บและ ได้รับเคราะห์กรรมต่าง ๆ นานา เมื่อเป็นดังนี้ผู้เป็นใหญ่ในเมืองนั้น จะร่วมทำพิธีสืบชะตาเมืองขึ้น เพื่อสืบอายุเมืองต่อไปมิให้ขาดลง ในคัมภีร์สืบชะตาเมืองกล่าวว่า


“คันจักสืบชะตา บุปผาลาซา ดวงดอก ข้าวตอก ดอกไม้ ลำเทียนหื้อได้ไปนิมนต์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เจ้า มาพอเท่าอายุเมืองนั้น คือว่าปีตั้งเมืองแต่ปถมหัวทีนั้น มาตราบเถิงปีบัดเดี๋ยวนั้น นับถือหลังมันได้กี่ปีก็หื้อเอาพระสังฆะเจ้าเท่านั้น มาสูตรกระทำมังคละ”

พิธีสืบชะตาเมือง ก็เพื่อต้องการให้บ้านเมืองประสบความเจริญรุ่งเรือ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ด้วยความเชื่อว่าเทพารักษ์ซึ่งอยู่เบื้องบน จะช่วยอำนวยความสุขให้ สมปรารถนาเมื่อทำพิธีการให้ถูกต้องตามลัทธิผีสางเทวดา ในการทำพิธีสืบชะตาเมืองนี้ ปรากฏในพับหนังสา (สมุดข่อย) จารึกด้วยตัวหนังสือ ล้านนาไทย หลายฉบับกล่าวถึงพิธีสืบชะตาเมืองในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาไทย รัชกาลที่ 13 ในราชวงค์มังราย ซึ่งครองราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ. 2038-2068 ไว้อย่างละเอียด และ พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นประธาน ในพระราชพิธีสืบชะตาเมืองเพื่อให้เกิด สวัสดีมงคล โดยทั่วกัน